สถานที่ท่องเที่ยว
เจ้าปู่ผ่านเจ้าพ่อบ่อพันขัน
เจ้าปู่ผ่านเจ้าพ่อบ่อพันขัน แก่นขามพันปีเชื่อกันว่าต้นมะขามที่เกิดในปีขาล วันอังคาร เดือน 5 แก่นขามนี้เดิมนั้นล้มอยู่กับพื้นดินหลายชั่วอายุคน ต่อมาจึงได้แกะสลักแก่นขามเป็นพระพุทธรูปปางต่าง ๆ แล้วประกอบพิธีบวงสรวงขึ้น เพื่อกราบไหว้บูชาศาลเจ้าปู่ผ่านเจ้าพ่อบ่อพันขันตั้งอยู่บนเนินดิน เป็นศาลของผีวีรบุรุษที่ให้ความคุ้มครองปกป้องชาวบ้านในแถบนี้ โดยเชื่อกันว่าเจ้าปู่ผ่านนั้นเป็นทหารโบราณสมัยมนุษย์แปดศอก ซึ่งเมื่อเจ้าปู่ผ่านเสียชีวิตแล้ว ดวงวิญญาณของท่านได้สถิตอยู่ ณ ดินแดนแห่งนี้ เพื่อคุ้มครองปกป้องลูกหลาน ชาวบ้านให้ความเคารพบูชา มาสักการะเพื่อขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุข
วัดเกาะบ่อพันขันรัตนโสภณ
วัดเกาะบ่อพันขันรัตนโสภณตั้งอยู่บนเกาะโนนข่าเดิม ในอ่างเก็บน้ำชลประทานบ่อพันขันบนดาดฟ้าอุโบสถได้สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 9 เมตร สูงจากพื้นดินถึงยอดเศียร 21 เมตร ให้นามว่า พระพุทธสหัสขันมหามุนีนาถ พระประทานพรเหลืองอร่ามสวยงามยิ่งนัก เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา
บ่อพันขัน
บ่อพันขัน พื้นที่เป็นลานหินทรายแดงกว้างประมาณ 700 ไร่ ก้อนหินแต่ละก้อนที่ติดต่อกันเป็นเส้นตรงเหมือนเอาเส้นบรรทัดวัดขีดไว้ รอยแตกของหินแต่ละก้อนจะมีน้ำเค็มไหลขึ้นมา ชาวบ้านนำน้ำที่ไหลขึ้นมานี้ ไปต้มเป็นเกลือสินเธาว์เพื่ออุปโภคและบริโภคในบริเวณหินทรายแดงที่กว้างใหญ่นี้มีบ่อน้ำจืดขนาดเล็ก กว้าง 6 นิ้ว ลึก 6 นิ้ว เป็นบ่อน้ำจืดขนาดเล็กมีน้ำไหลขึ้นมาจากบาดาล เกิดในก้อนหินทรายแดง น้ำไหลไม่หยุดจะตักเท่าไรก็ไม่หมด เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และมหัศจรรย์เพราะเกิดในท่ามกลางสายน้ำเค็ม ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำสร่างครก” หรือ “น้ำสร่างโอ” เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่คนสมัยก่อนมาอธิษฐานขอจากเจ้าปู่ผ่าน เจ้าพ่อบ่อพันขัน เพื่อนำไปดื่มกินรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
โบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
พระธาตุพันขันตั้งอยู่บ้านหนองมะเหียะ ตำบลจำปาขัน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดลักษณะเป็นปรางค์ก่ออิฐ ปรางค์ประธานมีขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 7 เมตร สูง 12 เมตร และอาจมีปรางค์อีก 2 องค์ขนาบข้างซึ่งเหลือเฉพาะส่วนฐาน ตั้งอยู่บนฐานสูงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีทางเข้าด้านหน้าเพียงด้านเดียว อีกสามด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก ชั้นหลังคาหักลงมาเหลือเพียงสองชั้นส่วนประกอบที่ใช้ตกแต่งตัวอาคารสูญหายไปเกือบทั้งหมด คงเหลือเพียงชิ้นส่วนของปฏิมากรรมเพียงไม่กี่ชิ้นและวงกบประตูที่แสดงถึงเทคนิคการเข้าวงกบแบบมีบ่า มีอายุไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 15 ปัจจุบันกรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์จนสมบูรณ์แล้วเทศกาลงานไหว้พระธาตุพันขัน จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้าตามฮีตสิบสอง คองสิบสี่ โดยชาวบ้านจะทำพิธีแห่น้ำศักดิ์สิทธ์จากบ่อพันขัน และนิมนต์พระพุทธรูปลงมาเพื่อทำการสรงน้ำหน้าองค์พระธาตุ จากนั้นก็จะมีการแห่ทรายเข้าวัดก่อเจดีย์ทราย เสร็จแล้วก็จะทำการสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ และสรงน้ำรอบ ๆ พระธาตุ จำนวน 3 รอบ เมื่อทำการสรงน้ำเสร็จก็จะมีการจุดบั้งไฟเพื่อทำการเสี่ยงทายขอฝน โดยชาวบ้านเชื่อว่าถ้าบั้งไฟขึ้นสูงก็แสดงว่าปีนั้นฝนจะดี ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าบั้งไฟไม่ขึ้นหรือบั้งไฟแตกก็แสดงว่าปีนั้นฝนจะแล้ง
แม่ย่าหม่อม
แม่ย่าหม่อม รูปปั้นผู้หญิงโบราณ ทำจากหินทรายแดง ที่อยู่คู่กับพระธาตุพันขันมาแต่โบราณ จากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาเชื่อว่าท่านเป็นแม่นมขององค์หญิงอินทิรา พระธิดาของเมืองขอม ประมาณก่อน พ.ศ. 2519พระพักตร์ของท่านถูกขโมยไปชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธา โดยการนำของพระครูวิบูลย์เจติยานุรักษ์ ได้ร่วมใจกันจัดทำพระพักตร์ของท่านขึ้นใหม่ และทำพระหัตถ์ทั้งสองข้างให้สวยงามขึ้น
ทับหลังหินทรายแดงสมัยปาปวน
ทับหลังหินทรายแดงสมัยปาปวนขุดได้ในบริเวณพระธาตุพันขัน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์จังหวัดร้อยเอ็ด
พระพุทธรูปหินทรายแดง
พระพุทธรูปหินทรายแดง สมัยล้านช้าง หนึ่งในพระพุทธรูป ที่ขุดได้ในบริเวณพระธาตุพันขัน
พญามหาสรวง
พญามหาสรวง มี2ตัว เดิมตั้งอยู่บริเวณหน้าพระธาตุพันขันปัจจุบันตัวถูกขโมยไปเหลือแต่ฐานเท้า
พระพุทธสุวรรณภูมิโลกนาถ
พระพุทธสุวรรณภูมิโลกนาถ (หลวงพ่อทันใจ) ตั้งอยู่ในบริเวณพิพิธภัณฑ์เมืองจำปาขันสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกสิ่งหนึ่งของตำบลจำปาขัน
พิพิธภัณฑ์เมืองจำปาขัน
พิพิธภัณฑ์เมืองจำปาขัน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านตาเณรเป็นสถานที่เก็บโบราณวัตถุที่สำคัญของตำบลจำปาขัน
แท่นศิวลึงค์
แท่นศิวลึงค์ขุดพบที่ดอนขุมเงิน บ้านหนองคูณ ตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ดทำจากหินทรายสีเขียว ขนาดกว้าง1 เมตร ยาว 1 เมตร จารึกด้วยอักษรปัลลวะเป็นภาษาสันสกฤต สร้างในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าจิตรเสน แท่นดังกล่าวนี้นักโบราณคดีสันนิษฐานว่ามีอายุเก่าแก่กว่าปราสาทนครวัด นครธม ถึง 500 ปี